วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ขั้นตอนในการปลูกต้นไม้

วิธีการปลูกไม้กระถาง และการบำรุงรักษา 

ขั้นตอนนี้ เป็นรายละเอียดของการลงกระถางต้นไม้  ตอนที่เราซื้อมา อาจเป็นถุงมา หรือกระถางเดิมเล็กไป ต้องมีการเปลี่ยนย้าย เราก็ต้องออกแรง อีกสักหน่อย จึงจะได้ไม้กระถางสวยตามต้องการ  แต่นอกจากความสวยงามแล้ว เรายังต้องรู้จักต้นไม้ของเราอย่างดีด้วย ว่าเขาชอบดินอะไร  เมื่อซื้อกระถางใหม่ ก็จะต้องจัดซื้อดินมาเตรียมพร้อมไว้เลย 




ดินหรือเครื่องปลูก


ในธรรมชาตินั้น ต้นไม้เจริญเติบโตหรือขึ้นได้ในพื้นที่ ที่มีความเหมาะสมของพรรณพืชแต่ละชนิด แต่การปลูกเลี้ยงไม้กระถาง เป็นการกำหนดให้ต้นไม้ต้องอยู่ในที่ที่จำกัด  ในภาชนะปลูกหรือกระถางของเรา  ดินหรือเครื่องปลูกจึงมีความจำเป็น ต้องมีคุณสมบัติในการยึดลำต้น การอุ้มน้ำ การถ่ายเทอากาศ และง่ายในการที่รากจะไชชอนได้สะดวก การปลูกพืชในกระถาง รากพืชจะถูกจำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะภายในกระถางเท่านั้น แต่มันก็ไม่วายที่จะยาวและชอนไชลงไปหาดินจนได้ เราก็ต้องคอยดูหรือสังเกตุ คาวมเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย

ดังนั้นเพื่อให้พืชเจริญเติบโตตามความประสงค์ของเรา ดินหรือวัสดุปลูก ควรมีความอุดมสมบูรณ์ มีคุณภาพดี  โดยมีคุณสมบัติทั่วไปดังนี้ (ส่วนที่ไม่ทั่วไปต้องเปลี่ยนแปลงสูตรไปตามพืชที่ต้องการเลี้ยงเป็นพิเศษ เช่นพวกบอนไซ พวกตะบองเพชร ฯลฯ)
1.ดินร่วนโปร่ง น้ำหนักเบา ระบายน้ำได้ดี ถ่ายเทอากาศได้ทั่วถึง ดูดซับน้ำได้ดี
2.มีธาตุอาหาร หรือปุ๋ยที่พืชต้องการอย่างสมบูรณ์
3.ไม่มีความเป็นกรด เป็นด่างมากเกินไป
4.มีความแน่นพอที่จะยึดให้ลำต้นทรงตัวอยู่ได้
5.ไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษต่อรากพืช 


เนื่องจากดินปลูกไม้กระถางอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด ดินปลูกจึงควรมีลักษณะร่วน โปร่ง อุ้มน้ำ หรือเก็บความชื้นได้ดี สามารถระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศได้ดี ดินทั่วไปมีคุณสมบัติทางเคมี และทางกายภาพที่แตกต่างกันไป เพื่อให้เหมาะสมเป็นเครื่องปลูกไม้กระถางจึงต้องมีการปรับปรุงคุณภาพโดยมีวัสดุอื่นๆ เป็นส่วนผสมดังนี้
1.อินทรีวัตถุ ประกอบด้วย เศษซากใบไม้ผุ เปลือกไม้แห้ง แกลบ ขุยมะพร้าว กาบมะพร้าวสับ ฟางข้าว และเปลือกถั่ว เป็นต้น
2.ปุ๋ยคอก ประกอบด้วย ขี้วัว ขี้ควาย ขี้หมู ขี้ไก่ และขี้ค้างคาว เป็นต้น
3.ทราย อิฐป่น และถ่านป่น
วัสดุดังกล่าวเมื่อนำมาผสมกับดินธรรมชาติแล้ว จะมีคุณสมบัติร่วน โปร่ง มีน้ำหนักเบา อินทรีวัตถุ นอกจากจะช่วยปรับสภาพเนื้อดินให้ดีขึ้นแล้ว ยังพบว่ามีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของไม้กระถาง คือเป็นปุ๋ยโดยตรงกับพืช แต่อาจจะไม่มากเหมือนปุ๋ยเคมีก็ตาม
ดินปลูกที่ดีสำหรับไม้กระถางต้องคงทน มีอายุการใช้งานได้นาน ไม่สลายหรือยุบตัวเร็ว ดินปลูกที่มีส่วนผสมของเปลือกถั่ว แกลบ เปลือกไม้แห้ง กาบมะพร้าว จะอยู่ได้นานกว่าดินที่มีส่วนผสมใบไม้ผุ ฟางข้าว หรือ หญ้าแห้ง









ตัวอย่างส่วนผสมของดินปลูกไม้กระถาง
ส่วนผสมดินปลูกไม้กระถางทั่วไป
สูตรที่ 1 : ดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย  2   ส่วน
              อินทรีวัตถุ                        1   ส่วน
              ปุ๋ยคอก                           1   ส่วน
สูตรที่ 2 : ดินร่วน                   1     ส่วน
              ทรายหยาบ             1     ส่วน
              ใบไม้ผุ                  1     ส่วน
              ถ่านป่น                 1/4   ส่วน
สูตรที่ 3 : ดินร่วน                   1     ส่วน
              ทรายหยาบ             1     ส่วน
              ใบไม้ผุ                   1     ส่วน
              ปุ๋ยคอก                 1/4   ส่วน

ในกรณีที่ดินเป็นดินเหนียวควรใช้ส่วนผสมดังนี้
สูตรที่ 4 : ดินเหนียว                2     ส่วน
              ขี้เถ้าแกลบ              1     ส่วน
              ปุ๋ยคอก                   1    ส่วน
              เปลือกถั่ว                1     ส่วน


ในกรณีดินที่มีความเป็นกรดสูง เช่น ดินนา ดินเหนียวในร่องน้ำนิ่ง ต้องใช้ปูนเป็นส่วนผสม เช่น ปูนดิบ หรือปูนสุก (ปูนขาว) ปูนจากเปลือกหอยเผาเป็นส่วนผสม อัตราส่วนของปูนครึ่งกิโลกรัมต่อส่วนผสมดินปลูก 10 ปีบ

ซึ่งในปัจจุบัน ดินปลูกต้นไม้ จะมีขายตามสูตรต่างๆอยู่แล้ว เราสามารถหาซื้อได้ โดยไม่ต้องมานั่งผสมเอง แต่ควรเลือกดูส่วนผสม ให้ตรงกับต้นไม้ที่เราจะปลูก 





ขนาดและจำนวนของต้นไม้ ที่จะปลูก 

การปลูกไม้กระถางนั้น เราต้องคำนึงถึงความสมดุลของ ขนาดของต้นไม้ และกระถาง ควรให้เหมาะสมกัน ถ้าต้นไม้ยังเล็กอยู่ก็ใช้กระถางเล็กไปก่อน พอต้นไม้โตพอที่จะเปลี่ยนกระถางจึงเปลี่ยนกระถาง ตามขนาดของต้นไม้ เนื่องจากการปลูกไม้กระถางเป็นไม้ประดับนั้นต้องการความสวยงามเป็นหลักอยู่แล้ว

ควรปลูกต้นไม้ต้นเดียวในหนึ่งกระถาง เพื่อให้ไม้ในกระถางโตเร็ว ไม่ว่าจะใช้ต้นไม้เป็นทรงพุ่ม แตกกิ่งก้านแผ่มาก ก็ควรปลูกต้นเดียวในหนึ่งกระถางเช่นกัน  ส่วนต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านน้อยทรงสูง แต่ถ้าเราต้องการให้เป็นพุ่มเพื่อความสวยงาม ก็จะปลูกลงหลายต้นในหนึ่งกระถางก็ได้  จำนวนต้นจึงแล้วแต่ความเหมาะสม ระหว่างต้นไม้กับขนาดของกระถาง  ถ้าต้นไม้เป็นไม้ทรงสูงมีลำต้นเดี่ยวตั้งตรงแล้วแตกพุ่มตอนบน ก็ต้องปลูกลงต้นเดียวในหนึ่งกระถาง


วิธีการปลูก

เมื่อเลือกกระถางตามความเหมาะสมกับต้นไม้ที่จะปลูกแล้ว เราเริ่มปลูกตามขั้นตอนดังนี้
1.เอาเศษอิฐ หรือเศษกระถางแตก อุดที่รูระบายน้ำที่ก้นกระถางเสียก่อน ถ้าจะให้ดีต้องโรยทับด้วยกรวด อิฐมอญทุบ หรือถ่านอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนก็ได้ เพื่อให้ก้นกระถางโปร่ง และระบายน้ำได้ดี
2.จากนั้นเอาดินหรือเครื่องปลูกที่เตรียมไว้ใส่กระถาง และทำมูลดินเป็นยอดแหลมเท่ากับความลึกของดินที่ปลูก
3.ก่อนปลูกหากไม้มีรากมากเกินไปควรตัดรากเก่าออกบ้าง เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างระบบรากใหม่ที่แข็งแรง และแตกแขนงได้มากขึ้น
4.วางโคนต้นไม้ลงบนยอดแหลมของมูลดิน และจัดระบบรากให้แผ่ออก รอบด้าน และทิ้งตัวลงตามแนวลาดของมูลดิน
5.เติมดินรอบๆโคนต้น เพียงเล็กน้อยก่อน แล้วกดดินบริเวณรอบๆโคนต้นเบาๆ เป็นการไล่โพรงอากาศ และเพื่อให้ดินสัมผัสรากพืชได้กระชับขึ้น
จากนั้นเติมดินและกดเบาๆ จนเกือบเต็มกระถาง ให้ระดับดินอยู่ต่ำกว่าขอบกระถางพอประมาณ พยายามอย่าเติมดินจนเต็มหรือพูนกระถางจนเกินไป เพราะเวลารดน้ำจะทำให้น้ำไหลออกนอกกระถาง แทนที่จะซึมลงกระถาง และเลอะเทอะพื้น แต่ถ้าเติมดินน้อยเกินไป ก็จะทำให้ดินยุบตัวจนเกิดรากลอย หรือทำให้บริเวณโคนต้นชื้นเกินไป เป็นสาเหตุให้เกิดโรคราได้ง่ายขึ้น




การให้น้ำ

การให้น้ำต้นไม้ที่เหมาะสม ก็เป็นสิ่งสำคัญในการปลูก เพราะการให้น้ำมากเกินไป น้อยเกินไป หรือให้น้ำไม่ถูก วิธีเหล่านี้ล้วนเป็นผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชทั้งสิ้น  ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ ชนิดของพรรณพืช สภาพของดิน หรือเครื่องปลูก และสภาพแวดล้อม เช่น ในร่ม กลางแจ้ง มีลมพัดผ่านหรือไม่ อุณหภูมิ และฤดูกาล เป็นต้น
ถ้าพืชได้รับน้ำน้อยเกินไป จะทำให้ใบเหี่ยว เนื่องจากน้ำในดินมีไม่พอให้รากดูดไปเลี้ยงลำต้น ช่วงเวลาใกล้เที่ยงถึงบ่าย 3 โมงเย็น เป็นช่วงที่อากาศร้อนจัดพืชจะคายน้ำมาก เมื่อคายน้ำมากแล้วรากต้องดูดน้ำมาชดเชยให้กับใบที่เสียน้ำไปกับอากาศ  ถ้าชดเชยไม่ทันก็จะทำให้ใบเหี่ยว การปลูกต้นไม้ เราอย่าคิดว่ามันพูดไม่ได้ เอาใจลำบาก อย่างใบเหี่ยวนี่ ก็เป็นการบอกของมันอย่างหนึ่งเลย มันฟ้องว่า เราลืมรดน้ำอีกแล้ว หรือรดน้ำน้อยไป ไม่เพียงพอ
แต่ถ้าน้ำมากจนเต็มช่องว่างทั้งหมดของดิน และไล่อากาศออกทำให้ดินอิ่มตัวจนเกิดน้ำขัง ก็จะไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืช เพราะจะทำให้พืชขาดออกซิเจน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการหายใจของราก  ถ้าดินมีน้ำขังเพียง 2–3 วัน พืชจะมีอาการเหี่ยวทั้งๆ ที่ไม่ขาดน้ำ พืชบางชนิดอาจตายได้ แต่ในทางกลับกันถ้าพืชได้รับน้ำน้อยเกินไป ต้นก็เหี่ยวเหมือนกัน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น